ประวัติความเป็นมา
1. ประวัติความเป็นมาของเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา
เดิมเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา เป็นสุขาภิบาลหนองตองพัฒนา อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2513 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 87 ตอนที่ 86 หน้าที่ 2584 ลงวันที่ 13 กันยายน 2513 มีตราสัญญาลักษณ์ ประจำสุขาภิบาลเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ของธัญญาหารและพืชผลต่างๆ จากการเกษตรกรรมมีการสร้างเหมืองฝ่าย เพื่อการเกษตรกรรม และป้องกันน้ำท่วมหลากในฤดูฝน มีองค์พระเจดีย์ที่บ่งบอกว่าราษฎร เป็นผู้ยึดมั่นและปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการคมนาคมที่สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ มีการพานิชยกรรมกับชุมชนใกล้เคียงตลอดเวลาตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ภูมิประเทศโดยรอบเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้นานาชนิด ทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก ด้านบนของดวงตรามีข้อความว่า “สุขาภิบาลหนองตองพัฒนา” ส่วนด้านล่างของดวงตรา มีข้อความว่า “จังหวัดเชียงใหม่” ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับฎีกา เล่มที่ 116 ตอนที่ 9 ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ครบ 90 วัน สุขาภิบาลหนองตองพัฒนา จึงยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ทางด้านทิศใต้ของอำเภอหางดงและจังหวัดเชียงใหม่ มีระยะทางห่างจากอำเภอหางดง 13 กิโลเมตรและห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ 28 กิโลเมตร โดยประมาณ มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งตำบล รวม 14 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นหมู่บ้านได้ 14 หมู่บ้าน.
ตำบลหนองตอง แต่เดิมสมัยโบราณ เป็นเมืองเมืองหนึ่ง ชื่อว่า “เมืองมะโน” มีความเจริญรุ่งเรือง มาพร้อมกับเมือง “หริภุญชัย” หรือจังหวัดลำพูน ราวศตวรรษที่ 13 และในสมัยเดียวกับเมืองอื่นๆอีกหลายเมือง เช่น เวียงท่ากาน เวียงเถาะ เป็นต้น “เมืองมะโน” มีขนาดกว้าง 900 เมตร ยาว 750 เมตร มีกำแพงเมืองสามด้าน คือด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันออก มีคูน้ำกว้าง 19 เมตร ทางด้านทิศตะวันออก ติดแม่น้ำปิงเก่า (พิงค์) ปัจจุบัน หากขุดลงไปในดิน ลึกประมาณ 1-1.5 เมตร จะพบกับเศษเครื่องปั้นดินเผา มีทั้งภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปแบบพิมพ์ต่างๆ และที่สำคัญมีการขุดพบพระพุทธรูปทรงมงกุฎเทริด หน้าตักกว้างประมาณ 3 ฟุต ซึ่งเป็นศิลปะ สมัยลพบุรี สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับเมือง “หริภุญชัย” สมัยของพระนางจามเทวี ปัจจุบันนี้ เมืองมะโนอยู่ในพื้นที่บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดหนองตอง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่